วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

เซิ้งผีโขน บ้านไฮหย่อง อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร










#เซิ้งผีโขนหรือผีวูดูเมืองไทย #หน้ากากผีไม่ได้มีแค่ด่านซ้าย บ.ไฮหย่อง อ.พังโคน จ.สกลนคร
#ประวัติความเป็นมาบ้านไฮหย่อง
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์ เชื้อสายเจ้าโสมพะมิตร หลานเจ้าผ้าขาวผู้สร้างเมืองผ้าขาว (ปัจจุบันคือบ้านผ้าขาวหรือบ้านปะขาว อ.พังโคน) เมืองพันนา (ปัจจุบันคือบ้านพันนา อ.สว่างแดนดิน)จังหวัดสกลนคร พร้อมด้วยครอบครัวมาตั้งบ้านเมืองดูแลรักษาองค์พระธาตุเชิงชุม จนมีผู้คนมากขึ้นแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านธาตุเชิงชุมเป็น เมืองสกลทวาปี โดยแต่งตั้งให้อุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์เป็นพระธานี เจ้าเมืองสกลทวาปีคนแรก ต่อมาปี พ.ศ.2369 (รัชกาลที่3) รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ เจ้าเมืองสกลทวาปีชื่อพระบรมราชา(มั่ง)ไม่ได้เตรียมกำลังป้องกันเมืองตามคำสั่งสยาม เจ้าเมืองสกลทวาปี จึงให้กองทัพเจ้าอนุวงศ์ผ่านไปตีหัวเมืองต่างๆ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพมาตรวจราชการเห็นว่าเจ้าเมืองกรมการไม่เอาใจใส่ต่อบ้านเมือง ปล่อยให้ข้าศึก (ทัพเจ้าอนุวงศ์) ล่วงล้ำไปเมืองนครราชสีมาได้โดยง่าย จึงสั่งให้นำตัวพระธานี(มั่ง)ไปประหารชีวิตที่หนองทรายขาว พร้อมกับกวาดต้อนผู้คนในเมืองสกลทวาปีไปอยู่ที่เมืองกบินทร์บุรีบ้าง เมืองประจันตคามบ้าง ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อเมืองใหม่ว่า เมืองสกลนคร

บ้านไฮหย่องมีอายุมาเกือบ 200 ปี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ชนที่มาตั้งบ้านไฮหย่องนี้เป็นลูกหลานของอุปฮาดเมืองสกลนคร ในพระธานี(มั่ง) อันเป็นเชื้อสายเจ้าโสมพะมิตรจากเมืองกาฬสินธุ์ ซึ่งมีนามเดิมว่า"พระพรหม" กับ "พระไชย" สองพี่น้องเป็นหัวหน้า ได้นำพาลูกหลานอพยพออกมาจากเมืองสกลนคร ครั้นเดินทางรอนแรมมาก็ได้เจอพื้นที่ที่บ้านไฮหย่องทุกวันนี้ เห็นว่าเป็นที่ที่อุดมสมบูรณ์มีที่ราบทำนา ป่าไม้หนาแน่น เนืองนองไปด้วยสัตว์ป่าน้อยใหญ่นานาชนิด อาทิเช่น แฮด ฟาน เมย มั่ง เป็นต้น หลากหลายไปด้วยพืชพันธ์ุธัญญาหารต่างๆ

ตามริมห้วยทั้งสองฝั่งทั้งทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก มีพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งขึ้นหนาแน่นครึ้มไป
หมดเรียกว่า "ต้นไฮ" (ไทรย้อย) จึงตกลงกันสร้าง
บ้านเมืองขึ้นที่นี่ ต้นไฮนี้มีรากหย่อนลงมาลอยอยู่ในอากาศเป็นพวงพุ่มสวยงามมาก จึงพากันขนานนามบ้านว่า "บ้านไฮหย่อน" ตามลักษณะของต้นไฮที่มีรากหย่อนลงมา ต่อมาจึงเพี้ยนเป็น "ไฮหย่อง"

เมื่อเป็นบ้านเมืองแล้วข่าวนี้ก็เลื่องลือไปเรื่อยๆ ทำให้มีผู้คนอพยพหลั่งไหลมาอยู่บ้านไฮหย่องกันมากขึ้น ครั้นเมื่อบ้านเมืองใหญ่โตขึ้นเป็นปึกแผ่นทุกคนต่างพร้อมใจกันแต่งตั้งให้พระไชยเป็นตาแสง (กำนัน) ขึ้นต่อเมืองสกลนคร พระพรหม กับ พระไชย สองพี่น้องนี้เป็นชนกลุ่มดั้งเดิมที่มาสร้างบ้านแปงเมืองเป็นต้นตระกูล "สัพโส" จากเมืองสกลนครนอกจากชนกลุ่มนี้ยังมีชนอีกกลุ่มหนึ่งเข้ามาอยู่คือ
ชาวภูไทมาจากบ้านพู่ (บ้านกุดก้อม อ.พรรณานิคม ในปัจจุบันนี้) มีหัวหน้าสองคนอาหลานนำสมัครพรรคพวกมาคือ "ญาเฒ่าขุนแก้ว" และ "ญาเฒ่าขุนทอง" ซึ่งเป็นต้นตระกูล "เหลาพรม"

ต่อมาบ้านไฮหย่องก็กลายสภาพเป็นหมู่บ้านใหญ่ มีพลเมืองมากขึ้น พระพรหม พระไชย ก็ปรับปรุงจรรโลงด้านต่างๆ ให้ดีขึ้นเช่น การปกครอง ศาสนา และ อาชีพ มีการสร้างวัดขึ้น

ในยุคสมัยหนึ่ง ได้มีทหารเอกคนหนึ่งของอุปฮาดคือ "เจ้าปู่เมืองหาญ" ชึ่งเป็นผู้เก่งกล้าสามารถในการรบทับจับศึก เป็นที่เคารพนับถือ ยำเกรงแก่คนทั่วไปในเมืองสกลนคร เจ้าปู่เมืองหาญรับราชการมานานก็เฒ่าแก่ชราร่างกายก็ร่วงโรยไปตามกาลเวลาตามกฎธรรมดาของชีวิต ฝ่ายพระพรหม พระไชย ด้วยความเคารพนับถือมาแต่ก่อนจึงสร้างศาลเจ้าปู่ขึ้นที่บ้านไฮหย่อง (ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของบ้าน) แล้วทำพิธีบวงสรวงอัญเชิญดวงวิญญาณท่านให้มาสิงสถิตอยู่ที่ศาลและเหล่าชาวบ้านพากันเคารพนับถือตั้งแต่นั้นมา ศาลเจ้าปู่แห่งนี้มีการบวงสรวงเป็นประจำทุกปี มีบุญฟ้อนนางเทียม(บุญเลี้ยงบ้าน)ทรงผีปู่ตาผีฟ้าทุกปี มีคนเคารพนับถือถึงความศักดิ์สิทธิ์สามารถดลบันดาลให้ประสบความสำเร็จสมความปรารถนาได้ จนถึงทุกวันนี้

ประมาณพ.ศ.2387 พระไชยถึงแก่กรรมลง
ทางกรุงเทพฯ ได้มีใบบอกมาให้เจ้าเมืองสกลนคร สำรวจดูว่า มีถิ่นใดใหญ่โตพอสมควรจะตั้งเป็นเมืองได้ ถ้ามีก็ให้เลือกตัวบุคคลที่เห็นว่าสมควรที่จะได้เป็นเจ้าเมืองได้ เพื่อส่งไปอบรมราชการเป็นเจ้าเมืองที่กรุงเทพฯ บ้านไฮหย่องเข้าเกณฑ์เป็นเมืองได้ พระพรหมพร้อมชาวบ้านจึงส่ง "ท้าวจารย์โคตร" ไปรับการอบรมที่กรุงเทพฯ เมื่อเสร็จจากการอบรมแล้วก็ได้รับตราตั้งเป็นเจ้าเมือง และเปลี่ยนชื่อบ้านไฮหย่องเป็นเมือง "#ภูเงิน" ช่วงปลายรัชกาลที่ 3 อหิวาตกโรคระบาดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมืองภูเงินช่างเคราะห์ร้าย พอเจ้าเมืองภูเงิน (ท้าวจารย์โคตร) จะเดินทางกลับมานั่งกินเมืองตามระเบียบก็ป่วยอหิวาตกโรคอย่างร้ายแรง และได้ถึงแก่กรรมที่เขตบางซื่อ พระนคร เป็นเหตุให้เมืองภูเงินกลายเป็นบ้านไฮหย่องขึ้นต่อเมืองพรรณานิคม(ในอดีตคือบ้านพังพร้าว)ของชาวภูไทแทน ซึ่งได้รับการยกฐานะเป็นเมืองในคราวเดียวกัน เจ้าเมืองสกลนคร ได้ทราบข่าวการถึงแก่กรรมของเจ้าเมืองภูเงินก็แสดงความเสียใจและมีใบบอกมาว่าให้เลือกตาแสง (กำนัน) ขึ้นปกครองกันต่อไป

สมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อปี พ.ศ.2406 เกิดฝนแล้งที่เมืองร้อยเอ็ดและเมืองอุบล ราษฎรต่างได้รับความอดอยาก พากันอพยพครอบครัวมาอยู่ในเขตเมืองสกลนครเป็นอันมาก ด้วยเหตุนี้จึงได้มีชนอีกกลุ่มหนึ่งอพยพมาจากเมืองอุบลราชธานีมาอยู่ที่บ้านไฮหย่อง มีอัญญาท้าวพรหมสาร ภรรยาชื่ออัญญานางสุวรรณ เป็นหัวหน้าและเป็นต้นตระกูล "สุวรรณชัยรบ" ในปัจจุบัน

#แห่ผีโขนหรือผีวูดูเมืองไทย
การละเล่นเซิ้งผีโขนโดยส่วนมากคนมักเข้าใจผิดมักเรียกว่า"ผีตาโขน"เหมือนกันกับอ.ด่านซ้าย จ.เลย แต่จริงๆแล้วต่างกัน
การละเล่นเซิ้งผีโขนบ้านไฮหย่องสันนิษฐานว่าได้มาจากการเล่นผีโขนในเมืองสกลนคร ตั้งแต่สมัยเจ้าเมืองสกลนครคนแรก โดยจะมีการแห่ผีโขนไปตามคุ้มต่างๆ ในช่วงเดือน 6 อันเป็นเทศกาลบุญมหาชาติ (เทศกาลงานบุญพระเวส) เพื่อเรี่ยไรเงินในการนำไปทำบุญตามวัดที่สำคัญ ดังปรากฎว่า บรรดาผีมเหสักข์หลักเมือง ในบ้านไฮหย่องมีชื่อว่า "ผีจันต์" อยู่ในกลุ่มผีระดับสูง ที่เข้าร่วมขบวนแห่พระเวสสันดร
ในแต่ละปี พอใกล้ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ชาวบ้านจะจัดงานเทศน์มหาชาติ หรือ"บุญพระเวส" อันเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ของชาวพุทธศาสนิกชนทั่วไปและถือเป็นส่วนหนึ่งของฮีตสิบสองของทางอีสาน หรือพิธีสิบสองเดือนของทางภาคกลาง แต่ชาวไฮหย่องได้จัดเป็นพิเศษออกไปอีก คือ มีการแห่ผีแบบวูดูหรือผีโขน

การแต่งกายของผีโขนที่พังโคน มีลักษณะคล้ายคลึงกับผีวูดูของพวกฝรั่ง มีลักษณะของใบหน้า ยาว ใหญ่ จมูกโตยาว ใบหูกางยาว คางยื่นยาว ปากกว้างใหญ่มองดูน่าเกลียด น่ากลัว บริเวณใบหน้าของหน้ากาก มีการตกแต่งสีให้น่ากลัวยิ่งขึ้น
โดยได้นำเอาไม้งิ้วหรือไม้นุ่นมาตัดให้มีขนาดกว้าง ๓๐ เซนติเมตร ยาว ๕๐ เซนติเมตร แล้วแกะสลักให้มีความน่ากลัวที่สุด ตามจินตนาการของแต่ละคนว่า รูปร่างหน้าตาของผีจะต้องเป็นอย่างนี้หรืออย่างนั้น ต่อจากนั้นมีการเอาปูนขาวและดินหม้อมาทาให้เกิดลวดลายพอสวยงาม ในสมัยต่อมา เมื่อเทคโนโลยีเจริญขึ้น มีสีวิทยาศาสตร์มากมายผลิตออกมาจำหน่าย ผู้คนเลยใช้สีเหล่านั้นมาระบายให้ดูสวยงามและแปลกตาออกไปอีก

ส่วนเครื่องแต่งกาย ผู้ที่จะเล่นต้องไปขอผ้าจีวรเก่าที่ไม่ใช้แล้ว จากพระภิกษุสงฆ์ตามวัดวาอารามต่างๆ มาตัดเป็นเสื้อรุ่มร่ามยาวคลุมถึงน่อง

เส้นผมใช้กาบกล้วยแห้งมาถักให้ยาวตกถึงน่อง และติดกับหน้ากากโขน

หนวดเครา ใช้เครือหูก(เศษผ้าจากการทอผ้าพื้นบ้าน)มาทำเป็นหนวดเครายาวๆ

อาวุธของผี มีดาบ หน้าไม้ และอวัยวะเพศเทียมที่ทำจากไม้นุ่น
เนื่องจากสมัยก่อนจำนวนประชากรยังน้อย บรรพบุรุษเกรงพิธีเล่นผีโขนจะเกิดการชะงัก ศาสนาพลอยขาดช่วงลง ถ้าหากไม่กำหนดระยะเวลาการเล่นผีโขนให้แน่นอน ปีต่อไปผู้คนอาจน้อยลงหรือไม่มีเลย ดังนั้นจึงกำหนดให้ผู้เล่นเป็นผีโขน ถ้าเล่นเพศชายต้องเล่นติดต่อกันอย่างน้อย ๖ ปี ส่วนผีโขนเพศหญิงอย่างน้อยต้อง ๓ ปี แม้ปีถัดไปใครมีเวลาน้อยอนุโลมให้สวมเครื่องแต่งกายผีลงเต้นแค่สองรอบหรือรอบเดียวเป็นอันใช้ได้ ซึ่งลูกหลานบ้านไฮหย่องได้ถือปฏิบัติเป็นวินัยอย่างจริงจัง และเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งของพวกผู้ชาย อันจะได้ชื่อว่าเป็นชาวไฮหย่องอย่างสมบูรณ์ แม้จะไปสู่ขอหญิงใดมาเป็นคู่ครอง ทางพ่อแม่ญาติพี่น้องก็ไม่มีความรังเกียจ นอกจากนี้ยังเป็นการสอนทางอ้อม ให้ชาวไฮหย่องมีความอดทนทำอะไรต้องทำให้สำเร็จ

การแบ่งผีโขนเป็นเพศผู้หรือเพศเมียนั้น
เพศผู้จะสังเกตได้จากจมูกโค้งเบี้ยว มีเครา
แต่เพศเมียจมูกจะเรียวตรง ลักษณะอื่น จะเหมือนกันหมด

กฎกติกาอีกอย่างหนึ่ง คือ ผู้ที่ร่วมเล่นเป็นผีโขน จะนิยมเล่นในช่วงอายุ ๑๘-๓๕ ปี เพื่อให้มีความรับผิดชอบเอง และเวลาพลาดพลั้งไปในบางครั้งจะได้ช่วยเหลือตนเองได้ ตลอดจนความเหมาะสมบางประการ เช่น ในกรณีดื่มสุรายาเมา ฯลฯ

อีกประการหนึ่ง ผู้ที่จะเล่นเป็นผีโขนต้องใช้ความอดทนสูง เพราะต้องสวมเครื่องแต่งกายมีน้ำหนักทั้งหมดไม่ต่ำกว่า ๕ กิโลกรัม ติดตัวไปไหนมาไหนติดต่อกันหลายวัน มันทั้งร้อนและเหนื่อยในเวลาเดียวกัน แต่ก็เป็นความพอใจของทุกคนที่ยอมเสียสละ และเชื่อว่าใครก็ตามที่เคยเป็นผีโขน ย่อมได้รับอานิสงส์แรงกล้า เวลาตายจะไม่ตกอยู่ในอบายภูมิอย่างเด็ดขาด

เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบในการเต้นผีโขน ได้แก่ กลองตุ้ม ฉิ่ง ฉาบ หมากจันทร์หรือโปง นอกจากนี้จะมีกระดิ่งแขวนคอควาย กระดึง ฯลฯ โดยไม่มีแม่บทท่าเต้นแน่นอน ขึ้นอยู่กับความสนุกสานและอารมณ์ของผู้เต้นเป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้ผู้เต้นจึงแสดงนิสัยของตนเองออกมาในรูปแบบท่าเต้นของผีโขนเป็นส่วนใหญ่

ก่อนวันงานบุญพระเวสราว ๗ วัน พวกผีโขนจะพากันไปตามหมู่บ้านต่างๆ พวกผีโขนจะเซิ้งขอไปตามบ้านต่างๆ เพื่อเชิญชวนชาวบ้านให้มาร่วมงานบุญงานกุศลครั้งนี้ ลงท้ายก็อวยพรให้ผู้เป็นเจ้าของบ้านมีความสุข พอผู้เป็นเจ้าบ้านได้ยินก็มีความสบายใจ นำเอาข้าวปลาอาหารแห้งมาให้ บางคนก็ให้ทานเงินทองไป โดยพวกผีจะนำเงินเหล่านี้ถวายวัดไปบูรณปฏิสังขรณ์ต่อไป ชาวบ้านจะได้ยินเสียงเซิ้งเป็นหมู่คณะแว่วมาแต่ไกล ทำนองเนื้อร้องจะเป็นนิทานคติเตือนใจจะมีทำนองแตกต่างจากเซิ้งบั้งไฟ เป็นบทเซิ้งที่นำมาจากหนังสือเจียง สอนให้ผู้คนทำดีก็จะมีผลดีตอบแทน หากทำชั่วผลกรรมนั้นจะคืนสนอง เช่น เรื่องกาพย์พระมุนี เรื่องกากีมีชู้ เมื่อถูกชู้ทำร้ายก็เกิดนึกถึงคุณความดีของสามี เป็นต้น

ผีโขนคณะหนึ่งๆจะมีหัวหน้าคอยควบคุม เพื่อดูแลลูกน้องปฏิบัติตนอยู่ในขอบเขต ซึ่งทุกคนจะต้องเชื่อฟัง ถ้าใครขัดขืนคำสั่ง ผู้เป็นหัวหน้ามีสิทธิลงโทษได้ ผู้ที่ถูกลงโทษก็มีความเต็มใจ เพราะมันเป็นกฎกติกาที่ได้ตกลงกันไว้ก่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าประทับใจอย่างหนึ่ง ที่สอนให้คนรู้จักระเบียบวินัยและเชื่อฟังผู้บังคับบัญชา

ก่อนออกไปเล่นผีโขนในแต่ละปี ผู้ที่เป็นหัวหน้าจะพาลูกน้องไปคารวะเจ้าปู่ที่ศาลใต้ต้นไทรกลางหมู่บ้าน บูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน เพื่อเป็นการบอกกล่าวและขออนุญาตเล่นผีโขน ต่อจากนั้น พากันเซิ้งต่อหน้าศาลศักดิ์สิทธิ์ที่ใต้ต้นไทรใหญ่ จึงเป็นอันว่าการเล่นผีโขนในปีนั้นเริ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่งได้แล้ว

ในบุญพระเวสสันดร-เซิ้งผีโขนของบ้านไฮหย่อง อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร จะเริ่มเมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ (เดือนทางจันทรคติ) ประมาณเดือน กุมภาพันธ์–เดือนมีนาคม ของทุกปี มีการจำลองเรื่องราวมาจากชาดกเรื่อง“พระเวสสันดร”ให้เห็นจริง โดยสมมุตเอาโรงเรียนบ้านไฮหย่องเป็นอาณาบริเวณเขาวงกต ที่พระเวสสันดรบำเพ็ญพรตอยู่จากนั้นมีพราหมณ์คณะหนึ่งเที่ยวเดินขอทานไปตามบ้าน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีภารกิจรัดตัว ไม่สามารถปลีกเวลามาร่วมบุญได้ ก็จะบริจาคทรัพย์สินเงินทองฝากพราหมณ์ไปทำบุญด้วย ซึ่งพราหมณ์จะเก็บรักษาไว้ รอนำไปทำบุญที่วัดในคราวเดียวกัน โดยเป็นการถวายกัณฑ์เทศน์หรือต้นผ้าป่าก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและเวลาจะอำนวยให้ ในขณะเดียวกัน มีพราหมณ์ชูชกและนางอมิตามาขอ กัญหา-ชาลีต่อพระเวสสันดรผู้บิดา อีกทั้งยังมีพระอินทร์แปลงร่างมาขอนางมัทรีด้วย ซึ่งพระเวสสันดรก็ประทานให้ทั้งหมด

เรื่องราวจะดำเนินไปจนถึงพระเจ้าสัญชัยและนางผุสดีพากัญหา-ชาลีมาอ้อนวอนพระเวสสันดรกลับคืนสู่พระนคร โดยมีการตัดพ้อต่อว่าด้วยความน้อยอกน้อยใจ ผู้เฒ่าผู้แก่ส่วนมากนิยมชมชอบการแหล่ในช่วงนี้มาก กล่าวกันว่าปีใดผู้ที่เป็นพระเวสสันดรและนางมัทรีมีน้ำเสียงดี สามารถเรียกน้ำตาชาวบ้านให้ไหลออกมาได้อย่างไม่รู้ตัว ด้วยเหตุนี้คุณสมบัติของผู้ที่เป็นพระเวสสันดรกับนางมัทรี เขานิยมพิจารณาจากน้ำเสียงมากกว่าอายุ

ครั้นพระเจ้าสญชัย และพระนางผุสดี พร้อมไพร่ฟ้า ข้าแผ่นดิน ยกขบวนมาอัญเชิญองค์พระเวสสันดร พร้อมพระมเหสี ให้กลับคืนพระนคร และในโอกาสที่พระองค์เสด็จกลับพระนครนั้น พวกผีโขนก็ขอร่วมขบวนส่งเสด็จด้วย ดังในบทที่ว่า

“ อันว่าโขนเหล่านี้คือพวกผีและปีศาจ
บ่ออาจคณานับได้หลายล้นมากเหลือ
เขากะอาศัยเอื้อบารมีพระทรงเดช
ปกเกศเกล้าเขานั้นให้อยู่เย็น
พระบาทเจ้าทรงโปรดกรุณา
แผ่เมตตาส่วนบุญอุทิศเถิงบ่อมีเว้น
เขากะดีใจล้นพระทรงธรรมสิครองราชย์
เขากะอาจสิได้กุศลให้เกิดดี
โขนเหล่านี้ฮ้องโห่โมทนา
วันทายอมือยกทุกโตโฮฮ้อง
สาธุเด้อ หากพระองค์เมือครองส่างนครทองตุ้มไพร่
ขอพระบาทไท้อุทิศให้ส่วนบุญ
ขอให้มีโอกาสบำเพ็ญทานดั่งพระองค์คราวนี้
อันว่าเป็นผีนี้เกินว่ามันลำบาก
ทุกข์ยากล้นโฮมนี้บ่อนเดียว พี่น้องเอ๊ย
การที่เป็นคนนี่แสนประเสริฐเหลือหลาย
อย่าได้ไลลาปะโอกาสดีของท่าน
ควรสิทำดีไว้ในตนให้ชัดเด่น
อย่าได้เป็นดั่งข้าโขนบ้านี่ยากเหลือ

ก่อนที่พระเวสสันดรจะทรงอนุญาต ได้มีการต่อรองกับพวกภูตผีปีศาจว่า ถ้าจะไปต้องอยู่ในขอบเขตที่กำหนดให้ ห้ามมิให้ออกมาเพ่นพ่านหลอกหลอนผู้คนให้ตกใจกลัว จึงมีการล้อมเผียก
(เชือก) ดังมีในคำเซิ้งผีโขนต่อไปนี้

"...อันว่าบัดนี้พระทรงญาณสิกลับเมืองบ้านนครทองตุ้มไพร่ พวกข้าน้อยขอไปแห่นำพวกพี่น้องอย่าเคืองแค้นโกรธชัง การไปในครั้งนี้สิบ่ให้เกิดปัญหา ขอให้สัญญาว่าเป็นขบวนบ่อลวนได้ สิบ่ให้เดือนร้อนปวงหมู่ชาวประชา อันว่าคำสัญญานี้แมนจริง บ่ได้ปุ่นแปนแต้ม บ่มีโขนโตใดได้สิมาอาละวาด โขนทุกโตบ่ออกนอกเผียกได้หัวหน้าเพิ่นสิโบย...."

คำเซิ้งผีโขน หรือ กาพย์เซิ้งผีโขน ชาวไฮหย่องได้คัดมาจากหนังสือผูกหนังสือเจียงของเมืองเวียงจันทน์ ซึ่งเดิมเป็นตัวอักษรธรรมอีสาน แต่ได้แปลเป็นอักษรไทยให้อ่านเข้าใจง่าย มีลักษณะเป็นนิทานสอนใจ แฝงไว้ด้วยความสนุกสนานเวลาเล่น โดยมีการหยอกเย้าแกมขอบริจาค
#ตัวอย่างบทกาพย์เซิ้ง
กาพย์ขอรับบริจาค
โอ่ เฮา โอ่ ศรัทธาเฮา โอ่
ขอเหล้าเด็ดนำเจ้าจักโอ
ขอเหล้าโทนำเจ้าจักถ่วย
หวานจ้วยๆใส่ปากหลานซาย
ตักมาหยายหลานซายให้คู่
หยายบ่อคู่ตูข้อยบ่อหนี
ตายเป็นผีกะสินำมาหลอก
ออกจากบ้านสิหว่านดินนำ
ตายเป็นตุ่นสิมากัดเครือพู
ตายเป็นหนูสิมากัดเครือหูก
ตายเป็นลูกสิมาแอ่วกินนม
โอ่ เฮา โอ่ ศรัทธาเฮา โอ่

ก่อนนั้นเครื่องแต่งกายของผีโขนหรือผีวูดู เป็นสีเหลืองสดของจีวรพระเวลาสวมหน้ากากแล้ว บางคนอาจเข้าใจเป็นพระภิกษุออกมากระโดดโลดเต้น อันผิดวิสัยของผู้ทรงศีลทั่วไป ทำให้เสียความรู้สึกแก่ชาวพุทธทั้งหลาย จนกระทั่งราว พ.ศ.๒๕๓๐ บรรดาผู้ใหญ่ชาวไฮหย่องได้ร่วมประชุมกัน และเห็นพ้องต้องกันว่า ควรนำผ้าจีวรเก่าไปย้อมให้ดำคล้ำลง เพื่อป้องกันเกิดการเข้าใจผิด ตั้งแต่นั้นมาสีสันของเครื่องแต่งกายผีโขน จึงเป็นอย่างที่เห็นในวันงานบุญพระเวสตราบเท่าทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม ก่อนจะเลิกเล่นผีโขนของแต่ละปี ผู้ที่เป็นหัวหน้าจะพาลูกน้องไปถวายต้นเงินที่ขอบริจาคมา มีการสวดมนต์ไหว้พระ แล้วขอขมาพระคุณเจ้าที่อยู่ในวัด เนื่องจากได้เข้ามาร่วมในขบวนแห่พระเวส อาจมีความผิดพลาดใดที่เกิดขึ้นอย่างไม่รู้ตัว เช่น การกินเหล้าเมายา การกระโดดโลดเต้นที่ผิดจากกิริยามนุษย์ ขออย่าได้ถือโทษโกรธเคืองให้เป็นบาปติดตัวไป ต่อจากนั้นก็จะทยอยกลับบ้านใครบ้านมัน

สำหรับเครื่องแต่งกาย โดยเฉพาะหน้ากากผู้เล่นสามารถเก็บรักษาไว้เล่นในปีต่อไป เพราะเวลาไม้หดแห้งน้ำหนักจะเบา เวลาเล่นจะได้ไม่ต้องเหนื่อยอย่างครั้งแรก รอจนกว่าหน้ากากจะผุพังไปค่อยลงมือทำอันใหม่อีก

#ข้อเปรียบเทียบความแตกต่าง ระหว่างผีโขน
บ้านไฮหย่อง ต.ไฮหย่อง จ.สกลนคร กับ ผีตาโขน อ.ด่านซ้าย จ.เลย
1.ความแตกต่างของขบวนแห่ ผีโขนบ้านไฮหย่อง เป็นขบวนแห่ที่มีอยู่เพียง 3 - 4 ขบวน ซึ่งคงความเป็นงานบุญแบบโบราณ แต่ผีตาโขน อ.ด่านซ้าย จ.เลย เป็นขบวนที่ใหญ่มาก มีการตกแต่งสีสันของขบวนแห่ต่างๆ ให้สวยงาม มีขบวนแห่ที่ยาวมาก นอกจากนี้ยังมีการประกวดขบวนผีตาโขน การประกวดการเต้นผีตาโขน และเป็นงานประจำปีของอำเภอ
2.ความแตกต่างของบทเซิ้งผีโขน บ้านไฮหย่องจะมีบทเซิ้งผีโขนแต่ผีตาโขนอำเภอด่านซ้ายจะไม่มี
3.รูปแบบการเตรียมงาน บ้านไฮหย่องจะมีการเตรียมงานล่วงหน้าประมาณ 45 วัน โดยมีการประชุมคณะกรรมการหมู่บ้านเพื่อมอบหมายหน้าที่ตามความสามารถของแต่ละคน แต่ อ.ด่านซ้าย จ.เลย นั้นประเพณีผีตาโขนเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวและถือเป็นงานประจำปีของอำเภอ ดังนั้นการเตรียมงานจึงต้องมีหลายส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาร่วมนอกจากนี้ยังได้รับงบประมาณสนับสนุนจำนวนมาก

ภาพการแสดงเซิ้งผีโขนในบุญพระเวสสันดร
ปีพ.ศ.2527

อ้างอิง : 1.จากปากคำของ ท้าวสุริโย (พ่อเฒ่าคำซาว สัพโส) ครูพรมมา อ่อนสุระทุม ผู้สอบถามและบันทึกไว้ (เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ปีพ.ศ.2485) และจากในเอกสารใบลานหนังสือผูก
2.จากเหตุการณ์ต่างๆในพงศาวดารเมืองสกลนคร
เทียบช่วงเวลาจากประวัติศาสตร์สกลนคร
3.หนังสือ ย้อนรอย120ปี เมืองพังโคน
4.ประวัติศาสตร์การระบาดของโรคร้ายแรงในสยาม (ตอนที่ 1) กาฬโรคและอหิวาตกโรค
5.รายนามหัวเมืองลาวอีสาน
6.ผีโขนหรือผีวูดูเมืองไทย เจริญเบิกฟ้า ไทยจีน

โพสต์ต้นทาง: https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=133443225024840&id=103752477993915

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น