หอการค้าอีสานตอนบน หนุนรถไฟสาย อุดรธานี-สกลนคร-ธาตุพนม (นครพนม)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมนาม เหล่าเกียรติ ประธานหอการค้าจังหวัดนครพนม เป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมการหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบน 2 (สกลนคร นครพนม มุกดาหาร) ครั้งที่ 1/2562 ณ ห้องประชุม บริษัท โตโยต้าเจริญศรี จำกัด ถนนบายพาส บ้านหนองหนองเค็ม เขตเทศบาลเมืองนครพนม พร้อมด้วยประธานหอการค้าฯกลุ่ม 2 คือ นายเศกสรร ชนาวิโชติ (สกลนคร) นายภมร เชาว์ศิริกุล (มุกดาหาร) โดยมีหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบน 1 ได้แก่ นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย(อุดรฯ) นางมนนิภา โกวิทศิริกุล(หนองคาย) นายณัฐพล เหลืองวงศ์ไพศาล(เลย) นายวิสูตร คำอินทร์(หนองบัวลำภู) และ นางกุสุมา หงส์ชูตา(บึงกาฬ) ร่วมประชุมเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคตอนบน 1 และ 2 ให้ก้าวรุดหน้า
ซึ่งจังหวัดสกลนครก็ต้องการทางรถไฟเช่นเดียวกัน จึงเสนอให้มีเส้นทางรถไฟเชื่อมจากจังหวัดอุดรฯผ่านมาถึงจังหวัดนครพนม โดยจุดเริ่มต้นมาจากอุดรฯ ผ่านอำเภอหนองหาน เข้าเขตพื้นที่จังหวัดสกลนครผ่านอำเภอสว่างแดนดิน พังโคน พรรณานิคม ผ่ากลางเมืองสกลนคร ผ่านอำเภอโคกศรีสุพรรณ และเข้าเขตจังหวัดนครพนมที่อำเภอนาแก ไปบรรจบเส้นทางสายบ้านไผ่-นครพนม ที่อำเภอธาตุพนม ระยะทาง 200 กว่ากิโลเมตร ในที่ประชุมเห็นชอบให้ตั้งเรื่องดังกล่าวไว้ เพื่อผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
จากนั้นก็มาถึงด้านท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งนางสาววสุมน เนตรกิจเจริญ เลขาฯหอการค้าจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่าการท่องเที่ยวริมฝั่งแม่น้ำโขง กำลังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ล่าสุดมีนักท่องเที่ยวจากประเทศเยอรมนี เดินทางมาชมธรรมชาติแถบลุ่มแม่น้ำโขงเป็นคณะทัวร์ โดยเริ่มตะลุยตั้งแต่จังหวัดเลย เลาะลงมาหนองคาย บึงกาฬ นครพนม และมุกดาหาร นอกจากนี้นักท่องเที่ยวยังไปเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน นำมาซึ่งรายได้เข้าสู่ชุมชนเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพคนในท้องถิ่น จึงเสนอที่ประชุมว่าหลังทางรถไฟสายบ้านไผ่-นครพนม เปิดเดินรถได้สมบูรณ์แบบ ควรจะมีรถไฟสำหรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะสักขบวน
ในที่ประชุมเห็นว่ารถไฟที่เหมาะกับการท่องเที่ยว ไม่จำเป็นต้องเป็นรถรุ่นใหม่ ยกตัวอย่างที่ประเทศญี่ปุ่น นำรถไฟเก่ามารีไซเคิลเพื่อใช้ในเส้นทางท่องเที่ยว ต่อมาเกาะไต้หวัน และประเทศเกาหลีใต้ก็นำไปใช้เช่นเดียวกัน เพราะรถไฟสายท่องเที่ยวไม่จำเป็นต้องใช้ความเร็วเหมือนขบวนปกติ
นอกจากนี้ในที่ประชุมยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า รถไฟความเร็วสูงนั้นไม่เหมาะกับประเทศไทย เนื่องจากรถไฟความเร็วสูงต้องวิ่งเป็นเส้นตรง ถ้าเข้าโค้งมีโอกาสตกรางได้ทันที เขตพื้นที่ภาคอีสานรถไฟระบบรางคู่จึงเป็นคำตอบที่ถูกที่สุด ก่อนปิดประชุมหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบน 1 และ 2 ได้มีความเห็นว่าควรจัดประชุมลักษณะนี้กันบ่อยๆ จะได้ทำงานขับเคลื่อนไปด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ
ที่มาข่าว:
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น